วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติการปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


ประวัติการปกครองของไทยปสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
รูปแบบการปกครองของไทยแต่สมัยเดิมมามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักโดยเฉพาะใน สมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดระยะเวลาเกือบ 500 ปี มิได้การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปกครองขนานใหญ่แต่อย่างใดจนถึงรัชสมัย พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อันเป็นระยะที่ประเทศไทย ได้มีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้นกว่าแต่ก่อน วัฒนธรรมและอารยธรรมต่างๆได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยประกอบกับอิทธิพลใน การแสวงหาเมืองขึ้นของชาติตะวันตกที่สำคัญ 2 ชาติ คืออังกฤษและฝรั่งเศสกำลังคุกคามเข้ามาใกล้ประเทศไทยประการสำคัญที่สุดก็ คือ พระอัจฉริยะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงคาดการณ์สำคัญใน อนาคตอย่างถูกต้อง จึงได้ดำเนินรัฐประศาสนโยบายนำประเทศไทยให้พ้นวิกฤตการณ์ จากการคุกคามทางการเมืองมาได้นำประเทศไทยสู่ความก้าวหน้ายุคใหม่อันเป็น สำคัญที่เป็น รากฐานในการปกครองปัจจุบันการปฏิรูปการบริหาร (Administrativereform) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2435 นี้นับว่าเป็นการปฏิรูปการปกครองการบริหารที่สำคัญของชาติไทยและนำความเจริญ รุ่งเรืองนานัปมาสู่ประเทศชาติและปวงชาวไทย ดังจะกล่าวถึงมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปการปกครองดังกล่าวต่อไป


การปกครองรัตนโกสินทร์ตอนต้นรัชกาลที่1-3(พ.ศ.2325-2394)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2325 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีใหม่จากกรุงธนบุรีมายังฝั่งตะวันออก(ฝั่งซ้าของแม่น้ำเจ้า พระยา)และสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานีขึ้น ณ ที่แห่งนี้
เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงย้ายราชธานี
• พระราชวังเดิม ของกรุงธนบุรีคับแคบ มีวัดขนาบอยู่ทั้งสองด้าน คือ วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง)และวัดโมฬีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) จึงยากแก่การขยายพระราชวัง
• ความ ไม่เหมาะสมด้านภูมิประเทศ เนื่องจากฝั่งตะวันตกหรือราชธานีเดิมเป็นท้องคุ้ง อาจถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพังได้ง่าย แต่ฝั่งตะวันออก(กรุงเทพ)เป็นแหลมพื้นดินจะงอกอยู่เรื่อยๆ
• ความ ไม่เหมาะสมในการขยายเมืองในอนาคต พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มกว้างขวาง สามารถขยายตัวเมืองไปทางเหนือและตะวันออกได้
• กรุงธนบุรีไม่เหมาะทางด้านทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ กล่าวคือ มีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง เปรียบเสมือนเมืองอกแตก เมื่อใดข้าศึกยกทัพมาตามลำน้ำก็สามารถตีถึงใจกลางเมืองได้ง่าย
เมืองหลวงใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
บริเวณ เมืองหลวงใหม่ เดิมเรียกว่า บางกอก หรือปัจจุบันคือกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีใหม่ของไทย สร้างขึ้นโดยเลียนแบบอยุธยา กำหนดพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนคือ
• บริเวณพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย วังหลวง วังหน้า วัดในพระบรมมหาราชวัง(วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)และรวมทั้งทุ่งพระสุเมรุท้อง สนามหลวง
• บริเวณที่อยู่ อาศัยภายในกำแพงเมือง อาณาเขตกำแพงเมือง ประตูเมือง และป้อมปราการสร้างขึ้นตามแนวคลองรอบกรุง ได้แก่ คลองบางลำภู และคลองโอ่งอ่าง
• บริเวณที่อยู่ อาศัยภายนอกกำแพงเมือง เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีบ้านเรือนราษฏรตั้งอยู่ด้านนอกของคลองรอบกรุง มีคลองขุดในรัชกาลที่ 1คือ คลองมหานาค

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น



ใน สมัยรัชกาลที่ 1-3 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ การจัดระเบียบการปกครองยังคงยึดถือตามแบบอย่างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีดังนี้
การปกครองส่วนกลาง มีเสนาบดีทำหน้าที่บริหารราชการ ได้แก่
สมุหกลาโหม มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ทั้งทหารและพลเรือน มียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยามหาเสนา ใช้ตราคชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง
สมุหนายก มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งกิจการทหารและพลเรือนเทียบเท่ากระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน มียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยาจักรี หรือเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต ใช้ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง
เสนาบดีจตุสดมภ์ เป็นตำแหน่งรองลงมา ประกอบด้วย
-กรมเวียง หรือกรมเมือง เสนาบดี คือ พระยายมราช มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปในพระนคร
-กรมวัง เสนาบดี คือ พระยาธรรมา มีหน้าที่ดูแลพระราชวังและตั้งศาลชำระความ
-กรมคลัง หรือกรมท่า เสนาบดี คือ พระยาราชภักดี, พระยาศรีพิพัฒน์ หรือพระยาพระคลังมีหน้าที่ด้านการเงิน การคลัง และการต่างประเทศ
-กรมนา เสนาบดี คือ พระยาพลเทพ มีหน้าที่ดูแลไร่นาหลวง และเก็บภาษีข้าว
การปกครองส่วนภูมิภาค หรือการปกครองหัวเมือง
หัวเมืองฝ่ายเหนือ (รวมทั้งหัวเมืองอีสาน)อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก หัวเมืองฝ่ายเหนือแบ่งฐานะตามระดับความสำคัญ ดังนี้
-หัวเมืองชั้นใน(หัวเมืองจัตวา) อยู่ไม่ห่างไกลจากราชธานี มีเจ้าเมือง หรือ "ผู้รั้ง"เป็นผู้ปกครอง
-หัวเมืองชั้นนอก(เมืองชั้นตรี โท เอก) มีขุนนางชั้นสูงหรือพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้ปกครอง ได้แก่ เมืองพิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร ฯลฯ
หัวเมืองฝ่ายใต้ อยู่ ในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม นับตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช ไชยา พังงา ถลาง และสงขลา เป็นต้น มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอกทั้งสิ้น
หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย
การปกครองประเทศราช
ฐานะของประเทศราช คือ เมืองของชนต่างชาติต่างภาษา มีกษัตริย์ของตนเองเป็นผู้ปกครอง มีหน้าที่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนดและส่งทหารมาช่วยเมื่อ เมืองหลวงมีศึกสงคราม
ประเทศราชของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มี ทั้งดินแดนล้านนา ลาว เขมรและหัวเมืองมลายู ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงแสน หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ เขมร ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ฯลฯ
การปรับปรุงกฏหมายและการศาล
กฏหมายตราสามดวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯให้รวบรวมและชำระกฏหมายเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และคัดลอกไว้ 3 ฉบับ ทุกฉบับประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และตราบัวแก้ว จึงเรียกว่ากฏหมายตราสามดวง
กฏหมาย ตราสามดวง หรือประมวลกฏหมายรัชกาลที่ 1 ใช้เป็นหลักปกครองประเทศมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะมีการปฏิรูปกฏหมายไทยและการศาลให้เป็นระบบสากล



เศรษฐกิจสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องจากเป็นช่วงระยะของการก่อร่างสร้างตัวและไทยยังต้องทำสงครามกับพม่า อีก ซึ่งทำให้ฐานะของประเทศไม่มั่นคงนัก พระองค์จึงสนับสนุนให้ทำการค้ากับต่างประเทศ เช่น จีนและโปรตุเกส
ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของประเทศนับว่าฟื้นตัวขึ้นมาจากเดิมมาก การเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนในช่วงระยะนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการค้ากับต่างประเทศ รายได้สำคัญของรัฐบาลสามารถแบ่งได้ 2 ทาง คือ
1. รายได้จากการค้ากับต่างประเทศ



กรุงเทพฯ นับว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมในการติดต่อค้าขายทางเรือ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากทะเล ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระ เจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ซึ่งทรงบังคับบัญชากรมท่า มีบทบาทในการส่งเสริมการค้าโดยเฉพาะกับจีน จนสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเรียกพระนามว่า "เจ้าสัว" ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การค้าขายกับต่างประเทศจึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าใน 2 รัชกาลแรก
รายได้จากการค้ากับต่างประเทศที่สำคัญ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้คือ
(1) การค้าสำเภาหลวง พระคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐขึ้นอยู่กับพระคลัง (พระยาโกษาธิบดี) มีหน้าที่รับผิดชอบในการแต่งเรือสำเภาหลวงบรรทุกสิ่งของที่เป็นส่วย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่จัดซื้อหาเพิ่มเติมออกไปค้าขายกับจีนและประเทศใกล้เคียง เช่น เขมร ญวน และมลายู แล้วรับซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ภายในประเทศ เช่น ผ้า ถ้วยชาม มาจำหน่ายแก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ผลกำไรจาก การค้าสำเภาหลวงนับเป็นรายได้ที่สำคัญยิ่งของแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอน ต้น
(2) กำไรจากการผูกขาดสินค้า พระ คลังสินค้ามีหน้าที่ควบคุมการค้ากับต่างประเทศ เช่นในสมัยอยุธยา โดยผูกขาดสินค้าบางอย่าง เช่น รังนก ฝาง ดีบุก งาช้าง พริกไทย เนื้อไม้ ตะกั่ว และพลวง เป็นสินค้าผูกขาดของหลวง ราษฎรผู้ใดมีสินค้าดังกล่าว ให้นำมาขายแก่พระคลังสินค้า เท่านั้น ห้ามเอกชนซื้อขายกับพ่อค้าต่างชาติโดยตรง ถ้าชาวต่างประเทศต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้ จะต้องซื้อผ่านพระคลังสินค้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง
(3) ภาษีปากเรือ เป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งเก็บจากเรือสินค้าของชาวต่างประเทศที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของไทย กำหนดเก็บภาษีตามส่วนกว้างที่สุดของเรือ โดยคิดอัตราภาษีเป็นวาและเรียกเก็บในอัตราที่ต่างกัน เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 2 เรือของจีนเสียวาละ 40 บาท เรือกำปั่นฝรั่ง เสียวาละ 118 บาท ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อไทยทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ ใน พ.ศ. 2369 ได้มีข้อตกลงว่ารัฐบาลไทยจะเก็บภาษีจากพ่อค้าอังกฤษรวมเป็นอย่างเดียวตาม ความกว้างของปากเรือ เรือสินค้าที่บรรทุกสินค้ามาขาย เก็บวาละ 1,700 บาท ส่วนเรือที่ไม่ได้บรรทุกสินค้าเข้ามาขาย เก็บวาละ 1,500 บาท
(4) ภาษีสินค้าขาเข้า เก็บ จากสินค้าที่พ่อค้าต่างประเทศนำเข้ามาจำหน่าย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าแพรจีน เครื่องแก้ว เครื่องลายคราม ใบชา อัตราการเก็บไม่แน่นอน ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม เช่น เรือของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีเข้ามาค้าขายเป็นประจำ จะได้รับสิทธิพิเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 2 เรือสินค้าของชาวจีนเสียภาษีสินค้าขาเข้าร้อยละ 4 ถ้าเป็นเรือสินค้าของชาติตะวันตก เสียภาษีร้อยละ 8 ของราคาสินค้า
(5) ภาษีสินค้าขาออก เก็บ จากสินค้าที่ส่งออกในอัตราที่ต่างกันไปตามชนิดของสินค้า เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 2 รังนกนางแอ่นกับเขากวางอ่อน เสียภาษีร้อยละ 20 ของราคาสินค้า งาช้างหาบละ 10 สลึง เกลือเกวียนละ 4 บาท หนังวัว หนังควาย กระดูกช้าง หาบละ 1 บาท
2. รายได้ภายในประเทศ



ส่วนใหญ่คงเป็นแบบเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีอากร แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
(1) จังกอบ หมายถึง ภาษีสินค้าผ่านด่านทั้งทางบกและทางน้ำ โดยการเก็บตามสัดส่วนสินค้าในอัตรา 10 หยิบ 1 หรือเก็บเงินตามขนาดของยาน พาหนะที่ขนสินค้าผ่านด่าน ส่วนใหญ่วัดตามความกว้างที่สุดของปากเรือ
(2) อากร เป็นเงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรได้จากการประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การค้าขายโดยตรง เช่น การทำนา ทำสวน หรือเงินที่พ่อค้าเสียให้แก่รัฐบาลในการให้สัมปทานการประกอบการต่าง ๆ เช่น การให้เก็บของป่า การต้มสุรา อัตราที่เก็บประมาณ 1 ใน 10 ของผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้
(3) ส่วย เป็นเงินหรือสิ่งของที่ไพร่หลวงที่ไม่ต้องการเข้าเวรรับราชการส่งมาให้รัฐ แทนการเข้าเวรรับราชการ โดยรัฐเป็นผู้กำหนดว่าให้ไพร่หลวงต้องเข้าเวรภายใน 3 เดือน ผู้ใดไม่ต้องการจะเข้าเวร จะต้องเสียเป็นเงินเดือนละ 6 บาท
(4) ฤชา เป็นเงินค่าธรรมเนียมที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎร ในกิจการที่ทางราชการจัดทำให้ เช่น การออกโฉนด เงินปรับสินไหม ที่ฝ่ายแพ้จะต้องชดใช้ให้แก่ฝ่ายชนะ รัฐก็จะเก็บไปครึ่งหนึ่งเป็นค่าฤชา เรียกว่า "เงินพินัยหลวง"

นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงภาษีบางอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3 ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการปรับปรุงภาษี ดังนี้
การเดินสวน คือ การให้เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปสำรวจเรือกสวนของราษฎรว่าได้จัด ทำผลประโยชน์ในที่ดินมากน้อยเพียงใด แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานการเสียภาษีอากร ซึ่งการจัดแบ่งภาษีการเดินสวนจัดแบ่งตามประเภทของผลไม้
การเดินนา คือ การให้เจ้าพนักงานออกไปสำรวจที่นาของราษฎร แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการเสียภาษีอากรที่ เรียกว่า "หางข้าว" คือ การเก็บข้าวในอัตราไร่ละ 2 ถัง และต้องนำไปส่งที่ฉางหลวงเอง
เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เดิม ชาวจีนได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานในขณะที่ราษฎรไทยที่เป็นไพร่และ ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยต้องถูกสักข้อมือเป็นไพร่และต้องทำงานให้แก่มูลนาย และพระเจ้าแผ่นดิน รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 เห็นควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานจีน จึงได้พิจารณาเก็บเงินค่าราชการจากชาวจีน 1 บาท 50 สตางค์ ต่อ 3 ปี จีนที่มาเสียค่าแรงงานแล้ว จะได้รับใบฎีกาพร้อมกับได้รับการผูกปี้ข้อมือด้วยไหมสีแดงประทับตราด้วย ครั่งเป็นตราประจำ เมือง ซึ่งแตกต่างกันออกไป เช่น เมืองเพชรบุรีเป็นรูปหนู กาญจนบุรี เป็นรูปบัว การผูกปี้ข้อมือจีนนี้ เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชบัญญัติลักษณะการผูกปี้ข้อมือจีน พ.ศ. 2443 ออกใช้บังคับทั่วทุกมณฑล และได้ยกเลิกไปในตอนปลายรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2451
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นหลายชนิด เช่น ภาษีพริกไทย น้ำตาล เป็นต้น ในสมัยนี้มีระบบการเก็บภาษีแบบใหม่เกิดขึ้น เรียกว่า "ระบบเจ้าภาษีนายอากร" หมายถึง การ ที่รัฐ เปิดประมูลการเก็บภาษี ผู้ชนะการประมูล คือ ผู้ที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดให้แก่รัฐบาล มีอำนาจไปดำเนินการเก็บภาษีแทนรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง ผู้ที่ประมูลภาษี เรียกว่า "เจ้าภาษีนายอากร" ส่วนมากเป็นชาวจีนผู้มีฐานะดีทางเศรษฐกิจจากการลงทุนค้าขาย ผลดี ของระบบเจ้าภาษีนายอากร คือ รายได้จากการเก็บภาษีอากรได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น แต่มีข้อเสีย คือ เป็นระบบผูกขาดที่ให้แก่ชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ และอาจจะมีการขูดรีดภาษีจากราษฎรได้
ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกของไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1-3



การ ค้ากับต่างประเทศใน สมัยรัชกาลที่ 1 ทำการค้าสำเภา ส่วนใหญ่จะทำการค้ากับจีน นอกจากนี้ ยังมีชวา มลายู อินเดีย ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการค้า จึงทรงแต่งตั้งชาวจีนให้ดำรงตำแหน่งขุนนาง เป็นพระ ยาโชฎึกราชเศรษฐี ตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้าย เพื่อติดต่อการค้ากับจีน และ ทรงแต่งตั้งผู้นับถือศาสนาอิสลามให้เป็นพระยาจุฬา ราชมนตรี ตำแหน่งกรมท่าขวา เพื่อติดต่อการค้ากับมลายู ชวา อินเดีย และอาหรับ



การ ค้ากับต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ มีการจัดสำเภาไทยไปค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกว่าร้อยลำ นอกจากนั้น ก็ทำการค้ากับชาวตะวันตก เช่น โปรตุเกส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฮอลันดา ซึ่งกิจการการค้าของหลวงนั้น พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญจนได้รับพระราชทานสมญานามว่า "เจ้าสัวกรมท่า" ใน สมัยนี้ อังกฤษได้ส่งจอห์น ครอว์เฟิร์ด เข้ามาเจรจาเรื่องการค้ากับไทย ขอให้ยกเลิกการผูกขาดพระคลังสินค้า และให้กำหนดภาษีขาเข้าและขาออกให้แน่นอน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้


การค้ากับต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยนี้ อังกฤษได้ส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับไทย โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้
(1) อนุญาตให้พ่อค้าไทยและอังกฤษติดต่อการค้าได้โดยเสรี แต่สินค้าอาวุธพ่อค้าต้องขายให้รัฐบาลไทยเท่านั้น
(2) การเก็บภาษีปากเรือให้เก็บตามความกว้างของปากเรือ ถ้าเรือมีสินค้า เก็บวาละ 1,700 บาท ถ้าเรือไม่มีสินค้า เก็บวาละ 1,500 บาท
(3) พ่อค้าจะต้องทอดสมอเรือสินค้าที่ปากน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไทยตรวจบัญชีค้นสินค้า และนำสินค้าอาวุธเก็บรักษาไว้ จึงจะอนุญาตให้เข้าไปได้
(4) คนอังกฤษทุกคน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ ถ้าทำความผิดจะถูกลงโทษตามกฎหมาย การทำสนธิสัญญาครั้งนี้ยังไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายอังกฤษ อังกฤษจึงพยายามแก้ไขสนธิสัญญา โดยการส่ง เซอร์ เจมส์ บรูค เข้ามาเจรจาใน พ.ศ. 2383 แต่ไม่สำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น